นายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ถือเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

           เมื่อพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ได้แก่
           1. พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2497) ออกตามความความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง พ.ศ.2565) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวในข้อ 2 ได้กำหนดนิยามคำว่าว่า "ปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ หมายความว่า "เงินตราต่างประเทศและเล็ตเตอร์ออฟเครดิต" และนิยามคำว่า "ธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ หมายถึง การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขาย ฝาก ถอน แลกเปลี่ยน โอน ให้กู้ยืม ให้บริการหรือปฏิบัติการใดๆ เกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ" ในข้อ 3 วรรคแรก กำหนดไว้ว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" วรรคสอง กำหนดว่า "การกำหนดประเภท ขอบเขต หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศแต่ละประเภทให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด..."
           2. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีแก่นายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยข้อ 2 ของประกาศฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้นายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศประกอบธุรกิจเกี่ยวปัจจัยชำระเงินต่างประเทศได้เฉพาะธุรกิจที่เป็นการจับคู่ธุรกรรมซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระหว่างลูกค้าที่จะซื้อหรือขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
          3. ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศและการประกอบธุรกิจที่สำนักงานใหญ่ สาขา และช่องทางให้บริการ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ก็ได้กำหนดนิยามคำว่า "นายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศ" หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ประเภทนายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศ 
          ดังนั้น นิติบุคคลซึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินเพื่อประกอบธุรกิจจับคู่ธุรกรรมซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระหว่างลูกค้าที่จะซื้อหรือขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และถือเป็นสถาบันการเงินตามนัยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ประกอบกับ (2) ของกฎกระทรวง (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542


จำนวนผู้เข้าชม 142