การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567 
มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 17 พฤษภาคม 2568)
ดูประกาศฉบับเต็มได้ที่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/45751.pdf 

สรุปสาะสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่ดำเนินการให้บุคคลที่ถูกกำหนดผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือผู้เป็นเจ้าหนี้ในค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานของคู่สมรส บิดา มารดา และบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลที่ถูกกำหนดด้วยเพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8/1 มาตรา 8/2 มาตรา 8/3 และมาตรา 14)
2. กำหนดให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลที่ถูกกำหนดสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการมาชำระหนี้ให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนดซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนดจะไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 และมาตรา 14)
3. กำหนดห้ามบุคคลช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด โดยการจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลที่ถูกกำหนด เพื่อตัดช่องทางการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนบุคคลที่ถูกกำหนดในการนำเงินหรือทรัพย์สินไปใช้ในการกระทำความผิด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8/3 มาตรา 17/1 มาตรา 24/1 มาตรา 25)
4. กำหนดให้สำนักงานที่ดินได้รับยกเว้นไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง)
5. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่และอำนาจเก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด หรือการยึด อายัดหรือริบทรัพย์สิน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่สอบถามหรือเรียกผู้มีหน้าที่รายงานซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพส่งเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารต่าง ๆ มาใช้ในการกำหนดและเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด โดยอาจร้องขอข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐก็ได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 22 (4) (5) และมาตรา 22/1)
6. กำหนดเพิ่มเติมฐานความผิดและอัตราโทษ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 24 มาตรา 24/1 มาตรา 24/2 และมาตรา 25) 
    - การฝ่าฝืนไม่กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติหรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
    - การฝ่าฝืนให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด
    - การฝ่าฝืนไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งคำชี้แจง หรือไม่ส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐาน
7. กำหนดให้ความผิดบางประการที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26)

 

 


จำนวนดาวน์โหลด 1 จำนวนผู้เข้าชม 114